สรุปงานวิจัย เรื่อง ผลการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบการแก้ปัญหาที่มีต่อทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานของเด็กปฐมวัย โรงเรียนเทศบาล 3 (โศภนพิทยาคุณานุสรณ์)
อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
วิจัยโดย นางสาวธนวรรณ มณี
การศึกษาครั้งนี้มีจุดมุ่งหมาย เพื่อเปรียบเทียบทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานของเด็กปฐมวัยก่อนและหลังได้รับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบกระบวนการแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัย
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาเป็นเด็กปฐมวัยชาย-หญิง อายุ 5-6 ปี ชั้นอนุบาล 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2549 โรงเรียนเทศบาล ๓ (โศภนพิทยาคุณานุสรณ์) อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา คัดเลือกโดยการส่มแบบกลุ่ม จำนวน 1 ห้องเรียน จำนวนนักเรียน 33 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบกระบวนการแก้ปัญหาจำนวน 4 แผน รวม 4 สัปดาห์ๆ ละ 5 ครั้ง ในกิจกรรมเสริมประสบการณ์ ใช้เวลา 20 นาที และแบบทดสอบวัดทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน 5 ทักษะ คือ ทักษะการสังเกต ทักษะการวัด ทักษะการจำแนกประเภท ทักษะการสื่อความหมาย และทักษะการลงความเห็นจากข้อมูล จากนั้นบันทึกผลการทดสอบวัดทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานก่อนและหลังการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบกระบวนการแก้ปัญหา เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล หาค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่า t-test
ผลการศึกษาพบว่า เด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบกระบวนการแก้ปัญหา มีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานหลังได้รับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ สูงกว่าก่อนได้รับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น